แจ้งเตือนการระบาดโรคมือเท้าปาก

FB_IMG_1467239474675

จากการติดตามสถานการณ์โรคมือเท้าปากของจังหวัดร้อยเอ็ด ปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 5 มิถุนายน 2560 มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 480 ราย  อัตราป่วย 36.68 ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วยในปีนี้มากกว่า ปี 2559 และมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ในช่วงเวลาเดียวกัน 2.72 เท่า
กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 1 – 2 ปี (ร้อยละ 57.83 ) และ อายุ 3 – 4 ปี (ร้อยละ 30.05 ) ส่วนใหญ่ มักพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนประถมศึกษา ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 28 พ.ค. – 4 มิ.ย. 60) พบการระบาดในชั้นเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา       ต. เกษตรวิสัย อ.เกษตรวิสัย และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.หนองใหญ่ อ.โพนทอง
การป้องกันโรคมือเท้าปาก ต้องอาศัยความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ในการตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมและตลอดจนหน้าฝน (เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม พ.ศ. 2560) หากพบเด็กที่มีอาการป่วยของโรคดังกล่าว ขอให้แยกออกจากเด็กปกติพร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้านทันที หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กที่มีอาการป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติและหากพบว่าป่วยควรพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย
รายละเอียด —
HFM_surv60

แจ้งเตือนการระบาดโรคสุกใส

img1488374109110

จากการติดตามสถานการณ์โรคสุกใสของจังหวัดร้อยเอ็ด  ปี 2560  ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม ถึง วันที่  26  กุมภาพันธ์  2559  มีรายงานผู้ป่วยโรคสุกใส   จำนวน 191   ราย  อัตราป่วย 14.60   ต่อประชากรแสนคน     โรคสุกใส  พบการระบาดในช่วงเดือนมกราคม  –  มีนาคม ของทุกปี       กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด  คือ   กลุ่มอายุ  5 – 9 ปี  กลุ่มอายุ 10- 14 ปี  และกลุ่ม  0- 4    ปี     ส่วนใหญ่พบการระบาดในศูนย์เด็กเล็ก  และโรงเรียนประถมศึกษา     ขอให้ทุกอำเภอ เฝ้าระวังป้องกันโรค  ในโรงเรียน   ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ให้มีการตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนทุกวัน  หากพบเด็กป่วย  ให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายหรือจนกว่าผื่นตกสะเก็ดหายหมดแล้ว         รายละเอียด —>  chickenpox

 

 

ร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันเด็กจมน้ำ ในช่วงปิดเทอม

 

 

drowning

สืบเนื่องจากในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เฉลี่ยประมาณ 400 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กตลอดทั้งปี กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ประกอบกับในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การจมน้ำของเด็กเป็นหนึ่งในแผนบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีเป้าหมายคือ ลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุ่ต่ำกว่า 15 ปีลดลงเหลือ 5 ต่อแสนประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ภายในปี 2560 นี้

สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด ในปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ จำนวน 5 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 2.7 ต่อแสนประชากรเด็กต่ำกว่า 15 ปี กระจายใน 3 อำเภอ ได้แก่ เสลภูมิ หนองพอก และโพนทอง และคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จะมีเด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกแห่ง มีการดำเนินงานดังนี้

1. สื่อสารข้อมูลความเสี่ยงการจมน้ำของเด็กให้แก่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก และเด็ก ถึงความเสี่ยงของการจมน้ำและวิธีป้องกัน โดยเน้นหนักในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม)

2. ผลักดัน/สนับสนุนให้เกิดทีมผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำ (Merit Maker) ในพื้นที่อย่างน้อยตำบลละ 1 ทีม เพื่อให้มีการสำรวจ/จัดการแหล่งน้ำเสี่ยง การให้ความรู้/ประชาสัมพันธ์ การฝึกทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ และวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง การปฐมพยาบาล และมาตรการอื่นๆ

3. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้เสื้อชูชีพและรัดสายทุกจุดให้แน่นทุกครั้ง เมื่อเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ

4. สอนให้ประชาชนในพื้นที่รู้วิธีการช่วยเหลือและปฐมพยาบาลคนจมน้ำที่ถูกต้อง

5. เฝ้าระวังการจมน้ำในช่วงปิดเทอม (มีนาคม-พฤษภาคม) กรณีถ้ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำในพื้นที่รับผิดชอบ ขอให้แจ้ง/รายงานตามแบบรายงาน พร้อมทั้งสอบสวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ มายังฝ่ายระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด โทร. 0 4351 5206 หรือทาง email epidroiet@yahoo.com ทั้งนี้เอกสารความรู้และสื่อการประชาสัมพันธืสามารถดาวน์โหลดได้ทาง  www.thaincd.com  หรือติดต่อฝ่ายระบาดวิทยา ตามหมายเลขโทรศัพท์ข้างต้น

 

 

การประชุมเครือข่ายระบาดวิทยา ครั้งที่ 1 ปี 2560

SRRT_Meeting_270160

เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2560 ฝ่ายระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับเครือข่ายระบาดวิทยาจากทุกอำเภอ รวมถึงเครือข่ายระบาดวิทยาในโรงพยาบาลค่ายประเสริฐสงคราม โรงพยาบาลจุรีเวช และศูนย์บริการสาธารณสุข เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร่วมประชุมแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวัง สอบสวน โรคและภัยสุขภาพของจังหวัดร้อยเอ็ด ในปี 2560 ณ ห้องประชุมแก้วมุกดา ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด

ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายวัฒนา นิลบรรพต หัวหน้างานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยายและฝึกปฏิบัติการใช้โปรแกรม R506 version 4.08 ให้กับเครือข่ายระบาดวิทยาร้อยเอ็ด เพื่อให้พร้อมในการนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ และพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพ/ข่าว  ฝ่ายระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด

การประเมินมาตรฐาน SRRT ระดับตำบล ปี 2559

SRRT_tumbon_59

 

ฝ่ายระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดทำโครงการประเมินมาตรฐานทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ระดับตำบล ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่สองของการประเมินรับรองมาตรฐานฯ ซึ่งกำหนดออกประเมินฯระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2559 โดยมีทีม SRRT ระดับตำบล รับการประเมินทั้งสิ้น 44 ทีม จากทุกอำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด

ผลการประเมินรับรองมาตรฐาน SRRT ระดับตำบล ปี 2559 มีทีมที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน “ระดับดี” จำนวน 18 ทีม และ “ระดับพื้นฐาน” จำนวน 26 ทีม และได้มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลการดำเนินกิจกรรมของทีม SRRT ระดับตำบล พบว่า ทีมส่วนใหญ่มีความพร้อมหากเกิดโรคระบาดขึ้นในชุมชน แต่ยังขาดทักษะในการวิเคราะห์และเรียบเรียงนำเสนอในรูปแบบเอกสารวิชาการการสอบสวนโรคและภัยสุขภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งทีม SRRT ระดับจังหวัด ในฐานะพี่เลี้ยงจะได้พัฒนาทักษะดังกล่าวให้กับทีม SRRT ระดับตำบลต่อไป

ในการออกประเมินฯครั้งนี้ได้รับการต้อนรับและสนับสนุนข้อมูลการประเมินรับรองฯจากเครือข่าย SRRT ระดับตำบล และพี่เลี้ยงระดับอำเภอ เป็นอย่างดี ทีมผู้ประเมินรับรองฯจึงขอขบคุณมา ณ โอกาสนี้

 

ภาพ/ข่าว ฝ่ายระบาดวิทยา่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด